แนวทางปฏิบัตินิติเวชสำหรับชาวต่างชาติ

แนวทางปฏิบัติงานนิติเวชสำหรับชาวต่างชาติ และพัฒนาระบบฐานข้อมูลบุคคลสูญหาย/พิสูจน์เอกลักษณ์บุคคลระหว่างประเทศ

ตามที่กระทรวงสาธารณสุข โดยคณะกรรมการยุทธศาสตร์การพัฒนาเมืองบริการสุขภาพ ปี 2558 ได้ตระหนักว่า การเข้าสู่ประชาคมอาเซียนนั้น จะทำให้มีการเคลื่อนย้ายประชากรชาวต่างชาติอย่างเสรี และมีแรงงานต่างด้าวจำนวนเพิ่มมากขึ้น ในกลุ่มจังหวัดชายแดน เมืองท่องเที่ยว, พื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ พื้นที่แนวระเบียงเศรษฐกิจ (Economic Corridors) ได้มีนโยบายสำคัญที่จะส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนาศักยภาพ สถานบริการสุขภาพภาครัฐให้มีขีดความสามารถในการจัดบริการ เพื่อรองรับการให้บริการชาวต่างชาติ ที่มีคุณภาพมาตรฐานสากลที่เกี่ยวข้อง จากปีงบประมาณ 2562 สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขได้ดำเนินการโครงการพัฒนาระบบบริการสุขภาพชาวต่างชาติ โดยได้จัดตั้งศูนย์ประสานงานเครือข่ายประชาคมอาเซียนด้านการสาธารณสุข (ศคอส.) ตั้งอยู่ที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด จำนวน 76 จังหวัด เพื่อทำงานร่วมกับศูนย์บริการสุขภาพชาวต่างชาติ (ศบต.) ของโรงพยาบาลในทุกจังหวัด โดยมีวัตถุประสงค์ให้ ศคอส. และศบต.เป็นกลไกหลักในการบริหารจัดการด้านการบริการสุขภาพชาวต่างชาติในระดับจังหวัดให้เกิดเป็นรูปธรรม โดยส่งเสริม สนับสนุน ให้หน่วยบริการสุขภาพได้รับการพัฒนาศักยภาพทั้งทางด้านบริหาร วิชาการ และด้านการบริการสุขภาพชาวต่างชาติ ภายในหน่วยบริการพัฒนาการให้บริการสุขภาพแก่ชาวต่างชาติ เพื่อรองรับชาวต่างชาติที่จะเข้ามาสู่ประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น ซึ่งงานนิติเวชเป็นงานหนึ่งที่จำเป็นต้องมีการเตรียมความพร้อม เพื่อรองรับกรณีที่เกิดปัญหานักท่องเที่ยวหรือแรงงานต่างด้าวถูกทำร้ายหรือเสียชีวิตในประเทศไทย รวมถึงบุคคลสูญหายที่ไม่สามารถพิสูจน์สัญชาติ ซึ่งมีแนวโน้มสูงขึ้นในอนาคต คณะผู้จัดทำจึงได้จัดทำ “แนวทางปฏิบัติงานนิติเวชสำหรับชาวต่างชาติและพัฒนาระบบฐานข้อมูลบุคคลสูญหาย/พิสูจน์เอกลักษณ์บุคคลระหว่างประเทศ” ฉบับนี้ขึ้น ประกอบด้วย แนวทางการจัดการศพชาวต่างชาติ/ต่างด้าว การจัดการในเรื่องของการเกิดของผู้ป่วยทั่วไปและผู้ป่วยคดี ซึ่งเป็นชาวต่างชาติ/ต่างด้าว รวมถึงเรื่องการพิสูจน์เอกลักษณ์บุคคล เพื่อเป็นแนวทางให้แก่โรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขที่ต้องเตรียมความพร้อมรองรับในการดำเนินการสำหรับชาวต่างชาติ/ต่างด้าวต่อไป